วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บันทึกการเดินทาง1วันในวัดเบญจมบพิตร
  

     วันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวันธรรมดาที่ใช้ชีวิตธรรมดาอยู่ในเมืองหลวงแต่วันนี้มีโจทย์เข้ามาในชีวิตคือ การศึกษาและรู้ซึ้งถึงคุณค่าของ วัดเบญจมบพิตรยังไม่รู้ว่าจะพบเจออะไรแล้วจะได้ทราบซึ่งกับสถาปัตยกรรมนี้สักแค่ไหนผมเคยแต่นั่งรถผ่านและมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมในอุโบสถเท่านั้นไม่เคยศึกษาอย่างจริงจังสำหรับวัดนี้เลยต้องยอมรับก่อนว่า ตัวผมนั้นไม่มีความรู้ด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยมากนักรู้แต่เพียงคราวๆหากใช้ศัพท์หรือเข้าใจผิดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย


ซุ้มประตูทางเข้าหลักของวัด

คณะสงฆ์และภิกษุณีต่างชาติแต่ไม่ทราบว่าชาติใด
วันนี้มาทำงานคนเดียวครับถ้ามากับเพือนคง
โดนเพือนโกธรเพราะเดินวนไปมาหลายรอบมาก

     เริ่มด้วยการเดินทางมาที่วัด ผมใช้การนั่งเรือจากท่าเดอะมอลบางกะปิมาลงท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาสแล้วต่อรถตุกตุกในราคา 40 บาทเพื่อจะมาที่หน้าวัดเบญจฯ วันนี้วันเสาร์นักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมากทีเดียวหน้าวันมีรูปสลักเป็นม้า 2 ตัวขาดว่าน่าจะเป็นหินสลักจากเมืองจีน จัดจากมาก็เจอซุ้มประตูปูนปั้นขนาดใหญ่ที่แกะสลักได้อย่างวิจิตรบรรจงมาก
เมือลอดซุ้มประตูเข้ามาก็พบกับภาพที่สวยงานคือ อุโบสถที่ทำด้วยหินอ่อนจากอิตาลีทั้งหลังประจันอยู่ตรงหน้าถูกส่งด้วยการจัดแลนด์สเคปที่ช่วยขับความงามของตัวอุโบสถและความขาวนวลตัดกับสีเหลืองทองและสีแดงของกระเบื้องหลังค่าและช่อฟ้าใบระกาของอุโบสถ ช่างเป็นภาพที่ผมว่าไม่ว่าใครก็ตามที่ได้มาเยี่ยมชมต้องแวะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายสักรูปด้วยเฉพานักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปยืนเป็นแบบให้เพื่อนที่มาด้วยถ่ายรูปให้กันทุกคนจนเป็นภาพที่เห็นจนชินตา






หน้าพระอุโบสถหินอ่อนมีสิงขร 2 ตัวเป็นยามเฝ้าประตูอยู่ซึ่งสิง 2ทั้งตัวทำขึ้นมาจากหินอ่อนทั้งก้อน และมีความวิจิตรบรรจงมากรายละเอียดต่างๆเก็บได้อย่างครบถ้วนผมพอจะมีภาพลายละเอียดของสิง 2 ตัวนี้ให้ดูด้วยผมไม่ขอวิจารณ์อะไรมากเพียงแต่จะบอกว่าเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนจริงๆดูกันพอขำขันนะครับอย่าคิดมาก


       เล่ามาถึงนี้มาเริ่มเข้าประวัติความเป็นมาของวัดเบญจมบพิตร โดยสังเขปกันกันเลยนะครับ วัดเบญจฯเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรีของไทย นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างรู้จักกันว่า "The Marble Temple" ที่แปลตรงตัวว่าวัดหินอ่อน พระอุโบสถ พระระเบียง ประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี ประกอบกับเป็นวัดที่มีความสวยวิจิตรงดงามด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ จึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสนใจเข้าชมจำนวนมากทุกวัน





      รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้นด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ และวางแบบแปลนแผนผังแยกสัดส่วนเป็นเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และที่ธรณีสงฆ์สำหรับผู้อุปัฏฐากภิกษุสามเณรอยู่อาศัย ในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีสนามหญ้าและปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น กุฏิที่อยู่ของภิกษุสามเณร เป็นระเบียบ ปลอดโปร่ง ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดกันอีกวัดหนึ่ง ภายในวัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสถานที่สำคัญมากมายให้เราได้ค้นหา มีพระพุทธชินราชจำลองที่ตัวองค์เป็นเนื้อทอง สวยอร่ามงดงามให้เราได้ชมและกราบไหว้ขอพร วัดเบญจมบพิตรนี้มิใช่วัดสร้างใหม่สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และ เมื่อถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ พระองค์ทรงดำริ ให้สร้างพระราชวังสวนดุสิต ขึ้น พระองค์จึงโปรดให้บูรณะวัดนี้ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวังที่สุด ไว้เป็นวัดประจำวังพร้อมทั้งรับสั่งให้กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ได้ปรับปรุงวัดนี้ เสียใหม่ให้ใหญ่โตและ
โอ่โถง โดยโปรดให้สั่งหินอ่อนจากประเทศอิตาลีมาสร้างเป็นพระอุโบสถ จากนั้นก็พระราชทานนามเต็มว่า วัดเบญจมบพิตร
ดุสิตวนาราม เบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิด "ราชวรวิหาร"  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงสถาปนาขึ้นโดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒
      วัดเบญจมบพิตรฯ ตั้งอยู่ริมถนนนครปฐม ติดริมคลองเปรมประชากร เขตดุสิต  กรุงเทพมหานคร    เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นในสมัยใด เดิมเป็นวัดเก่าเล็กๆของราษฎรวัดหนึ่ง ชื่อว่า " วัดแหลม "   เพราะอยู่ปลายแหลมที่สวนต่อกับทุ่งนา และชื่อว่า  " วัดไกรทอง "  เพราะเห็นจะมีต้นไทรปรากฏอยู่ในวัด










หน้าบันศาลาปูนปั้นรูปวิถีชีวิตการท่อผ้าของหญิงสาว 



      ศาลาใย - ระเบียบ

    ศาลาหม่อมเฉื่อย

ดาวประดับเพดานหน้าประตูพระอุโบสถ 

หินอ่อนช่วยเพิ่มความงามของซุ้มหน้าต่างเหลืองทอง
พระอุโบสถเป็นจตุรมุขมีทางเดินรอบพระอุโบสถ

ทางเดินรอบพระอุโบสถ

บานประตูพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วย
ศิลาแลงแกะสลักรูปเทพถือธนู
ดูแลรักษาพระอุโบสถ



  ลักษณะทั่วไปของพระอุโบสถ เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา ๔ ชั้น ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง
   ด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา
   
เก็บรายละเอียดแม้แต่บริเวณมุมของฐานบัวพระอุโบสถ




หนาจริงๆครับหินอ่อนที่ใช้สร้างอุโบสถ

สีรั้วสีชมพูเป็นสีประจำรัชกาลของ ร.๕
















          






       ตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน ๔ ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน ๒ ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบ ตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อน ๔ เหลี่ยมสีขาวบริสุทธิ์ หนา ๓ เซนติเมตรมุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้า และที่ซุ้มจรนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ เป็นพระยืนทรงเครื่องสมัยลพบุรี ปางห้ามญาติ ถวายพระนามว่า "พระธรรมจักร" เพราะที่ฝ่าพระหัตถ์สลักเป็นรูปพระธรรมจักร กับโปรดเกล้าฯให้บรรจุพระอังคารสมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม ซึ่งทรงอภิบาลเลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระเยาว์มา ประหนึ่งสมเด็จพระราชชนนี) ใต้ฐานพระด้วย
สาหินอ่อนคู่ขนาดใหญ่จริงๆครับ

ร่องรอยการต่อผิวหินอ่อนพระอุโบสถ
  
























                                                                               


ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ อ่อนช้อยรับกันทุกชิ้นมีคันทวยรับเชิงชายเป็นระยะ ๆ
   หลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีน
หน้าบันมุขตะวันออก จำหลักไม้ 
ผูกลายประกอบตราเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ

หน้าบันมุขตะวันตก จำหลักไม้ 
ผูกลายประกอบตราเป็นอุณาโลมในบุษบก


























หน้าบันมุขใต้ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นรูปจักรรถ

      หน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ผูกลายประกอบพระราชลัญจกรต่าง ๆ คือ
      ๑. หน้าบันมุขตะวันออก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูงประกอบซ้ายขวาด้วย
      ๒. มุขตะวันตก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ"
      ๓. มุขเหนือ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต"


มุขเหนือ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก

      ๔. มุขใต้ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นรูปจักรรถ ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"
   ในการผูกลายประกอบพระราชลัญจกร นอกจากสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์แล้ว ส่วนหนึ่งพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร (พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ช่วยเขียนแบบ ในกำกับของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย

ลายประดับหน้าต่างลงรักปิดทอง
ลายยักษ์แบกคานหน้าต่าง
    บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพเทวดารักษาประตู (ทวารบาล) ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมาร (ยักษ์) แบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก
   ภายในพระอุโบสถ มุขตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธชินราช ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก
   พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ผนังเสมอกรอบหน้าต่าง และพื้นพระอุโบสถ ประดับหินอ่อนหลากสี


   ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้บรรจุพระสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงสถาปนาวัด
   ผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปซึ่งเป็นส่วนถือปูน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ช่างกรมศิลปาากรเขียนลายไทยเทพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาวอมเหลืองอ่อน ตลอดถึงเพดาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗
   เหนือหน้าต่าง ๑๐ ช่อง เป็นช่องกระจกรับแสง เขียนสีลายไทยเทพนม โดยช่างกรมศิลปากร ออกแบบสั่งทำจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงรับเป็นเจ้าภาพ
  

ลวดลายลงรักปิดทองประดับประตูทางเข้าวิหารคตล
กระผมคิดว่าน่าจะผสมกับวัฒนธรรมจีนเพราะ

เทพที่ประตูนี้มีหนวดยาวคล้ายนักรบจีน
 ด้านบน ขื่อในและขื่อนอก ๓ ชั้น ลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานในล่องชาด ประดับดาวกระจาย ๒๓๒ ดวง ดาวใหญ่ ๑๑ ดวง มีโคมไฟระย้าแก้วขาวอย่างดี ตราเลข ๕ ซึ่งเป็นตราวัดเบญจมบพิตร ๖ โคม พร้อมสายบรอนซ์ ซึ่งสั่งทำจากประเทศเยอรมนี
   ช่องคูหาทั้ง ๘ เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญทุกภาค จัดเป็น "จอมเจดีย์" ในประเทศไทย โดยว่าจ้าง
ให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียน แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือ พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี, พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม, พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช, พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา, พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย, พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม, พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และ พระศรีรัตนธาตุ จังหวัดสุโขทัย
   เฉพาะช่อง "พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับเป็นเจ้าภาพ ช่อง "พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงรับเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีจิตศรัทธารับเป็นเจ้าภาพ
   สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนสถานที่อื่น ๆ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง เรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี
   ในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วยคือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri) ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน, สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno) เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน
   หินอ่อนทั้งหมดได้มีการสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจากห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว กับหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมตามที่นักเขียนหลาย ๆ คนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่าง ๆ แต่อย่างใด ในช่วงแรกมีมิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อน เป็นนายช่างประดับหินอ่อน มีช่างคนไทยเป็นลูกมือ
พระพุทธชินราชจำลองสีเหลืองทองคำอร่ามตัดกับสีน้ำเงินฟ้าประกอบกับการออกแบบไฟที่ช่วยสร้างบรรยากาศความน่าเลื่อมใสและสวยงามให้แก่พระพุทธชินราชเป็นจุดFirst impressionสำหรับผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี

Stained glass อย่างตะวันตกประดับเป็น
ลายเทพพนมบริเวณหน้าหน้าต่างได้อย่างวิจิตรบรรจง
 เป็นที่ทราบกันดีว่าในสมัยที่สยามกำลังเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอารยะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ทรงเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปหรือปฏิวัติระเบียบแบบแผนทางประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดมายาวนานไปในรูปร่างและทิศทางใหม่ที่สอดคล้องกับอุดมคติใหม่จากโลกตะวันตก การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังองค์ประกอบทุกส่วนในสังคมสยามไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและการดำรงชีวิต รวมถึงงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะวัดเบญจมบพิตรได้รับการอธิบายแต่เพียงว่าได้มีการผสมผสานวัสดุและเทคนิคบางอย่างจากตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนประกอบเช่น มีการใช้หินอ่อนจากอิตาลีมาเป็นวัสดุบุผิวนอกอาคารหรือการเขียนสีบนกระจกหน้าต่างพระอุโบสถ อันส่งผลทำให้การรับรู้คล้ายกับบานกระจกสีของโบสถ์แบบฝรั่ง แต่สิ่งที่แผงอยู่ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรยังแสดงถึงความเชื่อ ค่านิยม และอุดมคติของสังคม ณ ช่วงเวลานั้นไว้ด้วย
โครงสร้างหลังคาพระอุโบสถที่
ประดับตกแต่งลงรักปิดทอ
                               
                                   โชคดีที่ผมมาตรงกับงานบวชทำให้ได้ร่วมงานบุญครั้งนี้ด้วย
















                               



ความงดงามตามกาลเวลาของหิน
อ่อนที่ประดับภายในพระอุโบส









   








ลวดลายพื้นหินอ่อนที่มีการวางเป็็นPatternอย่างตะวันตก


 หน้าต่างพระอุโบสถตกแต่งด้วยศิลาแลงแกะสลัก
รูปยักษ์ซึ่งเป็นกริยาแบ่งคานหน้าต่างไว้
                           
ลายประดับที่เสาเป็นลายยักษ์ซึ่งแตกต่าง
กับลายเทพพนมบริเวณผนัง



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สถาปนิกผู้ออกแบบพระอุโบสถและระเบียงคต


 ภาพจิตกรรมฝาผนัง  

      การเปลี่ยนแปลงทางความคิดในลักษณะนี้ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากภาพจิตรกรรมที่ถูกเขียนขึ้นภายใต้แบบแผนอย่างใหม่ภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ถือเป็นภาพสะท้อนอุดมคติเรื่องพื้นที่และเขตแดนสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาพเขียนภายในช่องคูหาผนังทั้ง 8 เป็นภาพเขียนที่เกิดจากความคิดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถือว่าเป็นชนชั้นนำและความคิดก้าวหน้าสมัยแรกในยุคสมัยนั้น
        ภาพเขียนทั้ง 8 ช่องนี้  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกำหนดให้เขียนเป็น “จอมเจดีย์” ที่สำคัญของสยามทั้งหมด 8 องค์ โดยกำหนดให้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2485 ภาพสถูปเจดีย์ทั้ง 8 องค์ ที่กำหนดให้เขียนขึ้นมีดังนี้             

                -   พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
                -   พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช
                -   พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
                -   พระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเฉลียง
                -   พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
                -  พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
                -  พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
                -  พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา
                ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อคือ
                การเปลี่ยนแปลงลักษณะของจิตรกรรมจากที่เคยเขียนภาพในลักษณะเป็นอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง กลายมาเป็นเขียนภาพของเหตุการณ์ สถานที่ที่มีอยู่จริง มีสัดส่วนที่เหมือนจริง และการใช้สี  รูปภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดนั้นต่างล้วนเป็นสถูปเจดีย์ที่มีอยู่จริงในพื้นที่ตามเมืองต่าง ๆ  มิใช่สถูปเจดีย์ในอุดมคติหรือความเชื่อในตำนานอีกต่อไปเช่นที่มักเขียนตามฝาผนังพระอุโบสถทั่วไปในอดีต เช่น “กรุงลงกา” ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ “พระเจดีย์จุฬามณี” บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็คงทรงมีแนวคิดและความเชื่อดังกล่าวอย่างเต็มที่เช่นกัน จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่มีอยู่จริงในประเทศสยามมากกว่าที่จะเป็นรูปสถูปเจดีย์ที่สำคัญเพียงในจินตนาการแบบอดีต
                 อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงในคติการครองพื้นที่ คือเมื่อเป็นเจ้าของสถานที่สำคัญในเมืองต่าง ๆ ก็หมายถึงการเป็นเจ้าของเมืองนั้นด้วย เจดีย์ที่ถูกวาดขึ้นยังถือว่าเป็นจอมเจดีย์ที่สำคัญในประเทศสยาม ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับมุมความคิดในเรื่องพื้นที่ถือครองและขอบเขตพระราชอาณาจักรตามอุดมคติแบบใหม่ที่ยึดขอบเขตดินแดนตามที่เป็นจริง มิใช่ขอบเขตที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเพียงแต่ในนาม ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 เป็นภาพสะท้อนการถือครองพื้นที่ในอุดมคติใหม่ของสยามที่แสดงขอบเขตของอาณาจักอย่างชัดจริง
                ภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดจึงเป็นการแสดงอุดมคติเรื่องพื้นที่และอาณาเขตที่เป็นจริงตามความคิดแบบตะวันตก เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจและพระราชอาณาเขตของประเทศสยาม โดยใช้สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สำคัญของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นตัวชี้ ถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นตัวการกำหนดชี้ชัดลงไปในรายละเอียดที่ถูกต้องแบบแผนที่ก็ตาม




การประดับตกแต่งเพดานและขื่อที่วิจิตรบรรจง
สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่งดงามอันดับต้นๆของประเทศไทย


พระพุทธชินราชจำลองสีเหลืองทองอร่ามตัดกับพื้นหลังได้อย่างงดงาม



ซุ้มประตูออกจากพระอุโบสถสู่วิหารคตที่บรรจงประดับอย่างงามงดยิ่ง


ระบบเสียงภายในพระอุโบสถ
สุดยอดโดยBOSE
ลวดลาย ผนังอุโบสถรูปเทพพนม


พระระเบียง (วิหารคด)

     สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพระระเบียง ให้เชื่อมต่อมุขกระสันพระอุโบสถ ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ โอบอ้อมไปบรรจบด้านหลังพระอุโบสถ โดยเว้นเนื้อที่เป็นลานกว้าง มีประตูด้านทิศตะวันตก ตรงกับมุขตะวันตกของพระอุโบสถ ด้านใต้และด้านเหนือ มีด้านละ ๒ ประตู บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพเสี้ยวกาง ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก
บริเวณพระระเบียงวิหารคต


บริเวณหลังพระอุโบสถ เป็นลานกว้าง ปูด้วยหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา พื้นพระระเบียงปูหินอ่อนสีเหลืองอ่อนและสีขาวตลอดเสาพระระเบียงเป็นเสากลมหินอ่อนทั้งแท่ง ๖๔ ต้น เสาเหลี่ยมประกบแผ่นหินอ่อน ๒๘ ต้น ปลายเสาปั้นบัวประดับกระจกทั้งหมดผนังด้านในถือปูน ด้านนอกประดับแผ่นหินอ่อนสีขาว และทำเป็นหน้าต่างทึบ มีหินอ่อนเป็นลูกกรง รอบพระระเบียง รวม ๔๘ ช่องช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ 



ภายในพระระเบียงวิหารคต



ภายในพระระเบียง ขื่อลงรักปิดทองลายรดน้ำ เพดานล่องชาด ประดับดาวทอง ๖๑๐ ดวง ประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ จำนวน ๕๒ องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์มีทั้งพระพุทธรูปโบราณ และหล่อขยาย หรือย่อส่วนจากพระพุทธรูปโบราณ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ต้นราชสกุล ดิศกุล) ทรงเสาะหามาทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ตลอดจนถึงต่างประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น พม่า ลังกา
ผมจะเลือกองค์ที่หาดูยากและค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่นมาเสนอให้ชมกันครับ





พระพุทธเจ้าปางสมาธิแบบญี่ปุ่น
พระลีลาสมัยคุปตะ อินเดีย
พระนั่งขัดสมาธิ ปางทำทุกขกิริยา แบบกรีก ปากีสถาน
พระขัดสมาธิเพชรทรงเครื่อง แบบหริภุญชัย
พระยืนแบบญี่ปุ่น


พระยืนทรงเครื่อง ปางเทศนา แบบขอม ลพบุรี


พระยืนทรงเครื่อง ปางเทศนา แบบขอม ลพบุรี



พระขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย พม่า


พระยืนปางห้ามสมุทร ลพบุรี


พระนั่งขัดสมาธิ ปางมารวิชา พม่า


พระยืน ปางห้ามญาติ อู่ทอง อยุธยา


พระขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย พม่า


พระนั่งขัดสมาธิราบ ปางชัยมงคล อยุธยา


พระยืนแบบญี่ปุ่น


ปางขัดสมาธิ แบบจีนผสมไทย สมัยอยุธยา



ลายประดับฝ้าเพดานที่ชายคาระเบียงวิหารคต


ลานกว้างพื้นหินอ่อน (ระเบียงวิหารคต)


ซุ้มหน้าต่างเหลืองทองอร่าม
ประดับกระจก Stained glass ลายเทพพนม




เก็บความละเอียดทุกลอนหลังคาสุดยอดจริงๆครับ




พระปางลีลา ที่มีความเก่าแก่แต่มีความสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
ประดับดาวเพดานทุกชายคา

สะพาน3สะพานที่เป็นจุดเชื่อมไปบริเวณ
ด้านหลังโดยทั้ง3สะพานล้วนมีประวัติทั้งสิ้น
สะพานงา (ค้างาช้าง)


สะพานถ้วย (ค้าถ้วย)
สะพานพระรูป (ค้าเหรียญแทนพระองค์)

ตุ๊กตาหินแกะสลักจี้กงจีน
 ประดับหัวสะพานทั้ง 3
ตุ๊กตาหินแกะสลักจี้กงจีน 
ประดับหัวสะพานทั้ง 3
























พระวิหารสมเด็จ (ส.ผ.)

         เป็นตึกจตุรมุข ๒ ชั้น แต่มุขด้านใต้เชื่อมต่อกับมุขกุฏิสมเด็จ มุขด้านตะวันออกและตะวันตกขยายยาวเป็นชั้นเดียว บันไดพื้นชั้นล่างปูหินอ่อน ชั้นบนปูไม้ ความงามของพระวิหารนี้อยู่ที่ประตูหน้าต่างที่เขียนลายไทยรดน้ำทั้งชั้นล่างและชั้นบน หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่าง ปั้นลายก้านขดประกอบตราพระนามาภิไธยย่อ "ส.ผ." (เสาวภาผ่องศรี) ลงรักปิดทองประดับกระจก 
ข้างบันไดขึ้นด้านหน้าหล่อราชสีห์ประดับ ๒ ตัว
ด้านหน้าพระวิหารสมเด็จประดิษฐานพระธาตุเมืองฝางที่มีความเชื่อว่าศักสิทธิ์ยิ่งนัก






















พระวิหารสมเด็จนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้เป็น "หอธรรม" หรือ "หอสมุด" ประจำวัด ชื่อว่า "หอพุทธสาสนสังคหะ" ต่อมา พ.ศ.๒๔๔๘ โปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการหอธรรมเข้ากับหอพระสมุดวชิรญาณ หอพระมณเฑียรธรรม เป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร คงเหลือสิ่งของและคัมภีร์พระไตรปิฎกสำหรับวัดเท่านั้น หอพุทธสาสนสังคหะ จึงกลายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และตู้พระธรรมเป็นส่วนใหญ่






กุฎิสมเด็จ

     ถัดจากพระวิหารสมเด็จก็จะเป็น "กุฎิสมเด็จ"ซึ่งอยู่ติดกันเลย เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบ colonial ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมของฝรั่งเศษ









อาคารโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรซึ่งก็
ถูกออกแบบด้วย โคโลเนียล สไตล์


กุฏิสงฆ์

         เมื่อเดินมาเรื่อยๆจะพบกับกุฎิพระที่อยู่บริเวณด้านหลังของวัดเรียงต่อกันงดงามยิ่ง


กุฏิสงฆ์









กุฏิเจ้าอาวาสเป็นอาคาร โคโลเนียลซึ่งหรูหร่าโอ่อ่าเป็นอันมาก



ตราของร.๕ ประดับที่ศาลา
ของกุฏิเจ้าอาวาส




กุฏิรองเจ้าอาวาสก็งดงามโอ่อ่าไม่แพ้กันที่เดียว
เก็บภาพได้ตอนท่านกำลังกลับไปจำวัตรได้พอดี

พระที่นั่งทรงผนวช

พระที่นั่งทรงผนวชเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๕ ในสมัยที่ท่านทรงออกผนวชที่วัดเบญจมบพิตร
                                                                                              
"พระที่นั่งทรงผนวช"


               ซุ้มประตูทางเข้าพระที่นั่ง

ซุ้มหน้าต่างลงรักปิดทองได้วิจิตรบรรจง
ยิ่งกว่าซุ้มหน้าต่างบริเวณพระอุโบสถเสียอีก





สิงโตแกะสลักหินประดับหัวบันได





งดงามสมเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว




ศาลาบัณณรศภาค อายุ 113 ปี แต่ยังดูงดงามและแข็งแรงไม่ถูกทำลายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด


หอระฆังบวรวงศ์



หอระฆังบวรวงศ์ประดับผิวด้วยหินอ่อน


สิงโตแกะสลักจากหินอ่อนประจำทางเข้าหอระฆัง

ศาลาร้อยปี 


ศาลาร้อยปี 
ที่ประดิษฐานพระรูปจำลองของรัชกาลที่ ๕


แวะมาสักการะพระรูปของ ร.๕ เพื่อเป็นศิริมงคล



ศาลาสี่สมเด็จ

            ศาลาสี่สมเด็จ เป็นศาลาจตุรมุข บันไดปูหินอ่อนและประดับด้วยสิงห์ศิลาสร้างขึ้นจากทุนทรัพย์ของสมเด็จเจ้าฟ้า 4พระองค์ ปัจจุบันใช้เป็นหอกลอง มีกลองที่น่าสนใจและแปลกเนื่องจากยาวและใหญ่มาก (กลองหลวง หรือกลองอืด) โดยจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นำมาถวายรัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานมาไว้ที่วัดนี้
ศาลาสี่สมเด็จ อยู่ด้านหน้าพระที่นั่งทรงผนวช




สิ้นสุดการเดินทางใช้ประตูด้านศาลาร้อยปีออกจากวัดขอบคุณที่รับชมครับ





แผนผังและเส้นทาง(สีน้ำเงิน) สรุปการเดินทางของกระผมใน 1 วัน





Credit :  

              ภาพทั้งหมด  :  สิปปกร จริภักดิ์
              เนื้อหาข้อมูล : 
http://www.thai-tour.com/thaitour/bangkok/data/wat%20_benchamabophit.html
http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watben.php
http://www.thongteaw.com/Travel_tour_content_กรุงเทพฯ/กรุงเทพฯ%20วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม.html

ข้อมูลจากคนในวัดบางส่วน
ข้อมูลจากไกด์ที่นำเที่ยวที่บรรยายแล้วผมแอบตามฟัง